เมื่อมาถึงช่วงปี ค.ศ. 1885 - 1887 (พ.ศ. 2428 - 2430) [ตรงกับสมัยรัชการที่ 5] ก็ได้เกิดการประดิษฐ์ เครื่องหล่อตะกั่วเรียงพิมพ์ และได้รับความนิยมอย่างสูง จากผู้ผลิต 2 ราย รายแรกคือ เครื่องหล่อตะกั่วเรียงพิมพ์ไลโนไทป์ (Linotype) ที่ได้รับความนิยมในธุรกิจหนังสือพิมพ์อย่างล้นหลาม ซึ่งจะขอเล่าเรื่องนี้ในวันหลัง อีกรายคือ เครื่องหล่อตะกั่วเรียงพิมพ์โมโนไทป์ (Monotype) ซึ่งได้รับความนิยมในธุรกิจผู้ผลิตหนังสือ ออกแบบโดย โทลเบิร์ท แลนสตัน (Tolbert Lanston) โดยได้ก่อตั้งบริษัท แลนสตัน โมโนไทป์ มะชีน คอมปานี (Lanston Monotype Machine Company) ในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จากนั้นแลนสตันได้พัฒนาปรับปรุงเครื่องโมโนไทป์ให้มีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น จนสามารถเริ่มขายเครื่องโมโนไทป์เครื่องแรกได้ ในปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) และแลนสตันก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในปีนั้น แต่ก็สามารถหาเงินมาดำเนินงานและพัฒนาสินค้าต่อได้ จากนั้นก็ได้ก่อตั้งบริษัทแลนสตัน โมโนไทป์ ในประเทศอังกฤษในปีเดียวกัน เครื่องโมโนไทป์จึงถูกผลิตทั้งในสหรัฐและในอังกฤษ
เครื่องหล่อตัวอักษรตะกั่วของโมโนไทป์รุ่นแรก ได้แก่รุ่น โมโนไทป์ คอมโปซิชั่น แคสเตอร์ (Monotype Composition Caster) เป็นเครื่องหล่อตะกั่วเพื่อการเรียงพิมพ์โดยเฉพาะ มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน (แยกออกจากกัน) คือ คีย์บอร์ด และเครื่องหล่อ โดยคีย์บอร์ดทำหน้าที่คีย์ข้อความที่ต้องการ เพื่อเจาะม้วนกระดาษ เรียกว่า กระดาษริบบ้อน (Ribbon) จากนั้นก็นำกระดาษริบบ้อนนี้ ไปใส่ที่ระบบอ่านริบบ้อนบนเครื่องหล่อว่าแต่ละรูหมายถึงอักษรอะไร จากนั้นเครื่องหล่อก็จะทำการหล่อตัวอักษรทีละตัวตามที่รูในริปบ้อนกำหนดไว้ การหล่ออักษรตะกั่วทีละตัวจนกลายเป็นข้อความ เครื่องหล่อโมโนไทป์สามารถหล่อตัวอักษรไปได้เรื่อยๆ เป็น 1 หน้าหนังสือ หรือหลายๆ หน้า แล้วก็นำตัวอักษรตะกั่วที่มีความยาวหนึ่งหน้า ไปทำการพิมพ์ต่อไป หลังการพิมพ์เสร็จแล้วตัวอักษรตะกั่วทั้งหมด ก็จะถูกเอาไปหลอมใหม่ ไม่ได้เอามาใช้ซ้ำ โดยใช้หลักคิดว่า "หล่อใหม่ง่ายกว่า เร็วกว่า" เพราะการนำมาใช้ใหม่ ต้องเอาตัวอักษรทั้งหมด ไปเก็บไว้ในกะบะเก็บตัวอักษรตะกั่ว ก็ต้องใช้เวลาเก็บแต่ละตัวอักษร แล้วค่อยๆ เอามาเรียงด้วยมือใหม่เมื่อต้องการ ดังนั้นจึงตัดวงจรแบบนี้ทิ้ง คือ ใช้เสร็จก็เอาไปหล่อ และด้วยตะกั่วมีจุดหลอมเหลวต่ำ สามารถหลอมง่าย หล่อง่าย การหล่อใหม่จึงง่ายกว่าเยอะ อีกข้อดีของการหล่อตัวอักษรทีละตัวจากเครื่องหล่อโมโนไทป์ คือ สามารถแก้ไขตัวอักษรที่ผิดได้ง่าย เพราะหากพบตัวอักษรที่ผิด ก็เพียงดึงตัวนั้นออกมาแล้วใส่ตัวที่ถูกต้องลงไป
หากมองว่า กระดาษม้วนเจาะรู หรือ ริบบ้อน ของโมโนไทป์ เป็นนวตกรรมก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในยุคนั้น เพราะอีก 50 ปี ให้หลังกระดาษเจาะรูจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ (ใครที่อายุเกิน 50 ปี และเคยสัมผัสคอมพิวเตอร์ยุคแรก ก็อาจเคยเห็นและสัมผัสกระดาษเจาะรูลักษณะนี้) อีกนวัตกรรมหนึ่งของเครื่องโมโนไทป์ คือ แม่พิมพ์ตัวอักษร หรือ แมทริกซ์ (Matrix) หรือ ถาดทองแดง (เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียก แมทริกซ์ ของโมโนไทป์) ที่ก่อนหน้านี้หากจะหล่อตัวอักษรตะกั่วซักตัวก็ต้องใช้แม่พิมพ์ตัวอักษรตัวนั้นมาหล่อ (เช่น ตัว A) เมื่อต้องการตัวใหม่ก็ต้องเอาแม่พิมพ์ตัวเก่าออกแล้วเปลี่ยนอักษรแม่พิมพ์ (ดึงตัว A ออกแล้วใส่แม่พิมพ์ตัว B เข้าไปแทน) ซึ่งในยุคนั้นยังใช้แม่พิมพ์หล่อมือ ที่ต้องใช้มือตักตะกั่วเหลวใส่แม่พิมพ์แล้วแกะตัวอักษรตะกั่วออกมาทีละตัว อย่างดีก็มีเครื่องมือหมุนหล่ออักษรตะกั่วที่เร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือหล่ออักษรตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการให้หล่อตัวอักษรสลับไปตัวอื่นได้ ก็ต้องใส่แม่พิมพ์ตัวอักษรทั้งหมดเข้าไปในเครื่องหล่อ นี่คือโจทย์ที่แลนสตันต้องออกแบบแม่พิมพ์แบบนี้ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดแลนสตันก็ได้ออกแบบ ถาดทองแดง (Matrix Case) ได้สำเร็จ โดยถาดทองแดงจะมีแถวแนวตั้งใส่แม่แบบตัวอักษรได้ 15 ตัว แถวแนวนอน 15 ตัว (ต่อมาขยายแถวตั้งเป็น 17 ตัว ทำให้สามารถบรรจุแม่แบบตัวอักษรได้ถึง 255 ตัวอักษร และขยายเป็นแนวตั้ง 17 แนวนอน 16 บรรจุแม่แบบได้ 272 ตัว) ประกอบไปด้วยตัวอักษรใหญ่ A-Z ตัวอักษรเล็ก a-z และเครื่องหมายอื่นๆ
การเกิดขึ้นของเครื่องหล่อโมโนไทป์ จึงเกิดศัพท์ใหม่ในวงการชื่อว่า ตัวพิมพ์ร้อน (Hot Type) ซึ่งหมายถึงตัวอักษรตะกั่วที่เพิ่งออกมาจากเครื่องหล่อสดๆร้อนๆ เพราะเดิมตัวตะกัวจะกองรวมกันอยู่ในกะบะเก็บตะกั่วเรียงพิมพ์ (Type Case) การเกิดขึ้นของตัวพิมพ์ร้อนนี่เอง ในวงการถือว่าเป็นตัวตะกั่วเรียงพิมพ์สำหรับงานคุณภาพ เพราะตัวตะกั่วยังไม่ถูกใช้ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ ต่างจากตัวตะกั่วที่อยู่ในกะบะเก็บตัวตะกั่วเรียงพิมพ์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ตัวตะกั่วอาจจเกิดการแตกหัก บิ่น หรือตัวอักษรไม่คมชัด เนื่องจากตัวตะกั่วถูกใช้งานมายาวนาน นอกจากนี้ตะกั่วที่นำมาใช้หล่อสำหรับเครื่องหล่อโมโนไทป์ ก็มีส่วนผสมของธาตุที่นำมาหลอมให้มีสัดส่วน ตะกั่ว+พลวง+ดีบุก ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ตัวตะกั่วโมโนไทป์มีความแข็งแรงทนทาน ไม่บิ่นหรือแตกง่าย ตัวอักษรคมชัด แม้เป็นตัวอักษรที่มีขนาดเล็กก็มีความคมชัด
ด้วยคุณภาพอักษรตัวตะกั่วของโมโนไทป์ ที่มีความคมชัดแข็งแรง หลายคนจึงใช้เครื่องหล่อตะกั่วเพื่อการเรียงพิมพ์ โมโนไทป์ คอมโปซิชั่น แคสเตอร์ นำมาหล่อตัวอักษรตะกั่ว เพื่อเก็บไว้ในกะบะเก็บตะกั่วเรียงพิมพ์ (Type Case) สำหรับเรียงพิมพ์ด้วยมือ แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัด เพราะต้องสั่งหล่อจากม้วนกระดาษ ทำให้หล่อได้ช้า ซึ่งในที่สุด ปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) โมโนไทป์ได้เปิดตัวเครื่องหล่อรุ่น ไจแอนท์แคสเตอร์ (Giant Caster) เครื่องหล่อรุ่นแรกที่ไม่ใช้กระดาษริบบ้อนเพื่อสั่งพิมพ์ คือ สามารถสั่งหล่อตัวอักษรตะกั่วตามแม่พิมพ์ ที่ได้กำหนดไว้ได้เลย เครื่องไจแอนท์ แคสเตอร์ จึงสามารถหล่อตัวอักษรตะกั่วตัวใดตัวหนึ่ง เป็นจำนวนมากด้วยเวลาที่รวดเร็ว เน้นหล่อตัวอักษรตัวใหญ่ขนาด 18-72 พอยต์ สำหรับนำไปพาดหัว และเก็บไว้ใช้ในกะบะเก็บตะกั่วเรียงพิมพ์
3 ปี ต่อมา ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) โมโนไทป์ สาขาประเทศอังกฤษ ได้เปิดตัวเครื่องหล่อรุ่นซุปเปอร์ แคสเตอร์ (Super Caster) ที่มีขนาดเล็กกว่า รุ่นไจแอนท์ แคสเตอร์ ทั้ง 2 โมเดล (ไจแอนท์แคสเตอร์ + ซุปเปอร์แคสเตอร์) ถือเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คู่กับเครื่องหล่อรุ่นคอมโพสิชั่น แคสเตอร์ (Composition Caster) จากนั้นใน ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) โมโนไทป์ เข้าซื้อกิจการบริษัทผลิตเครื่องหล่อตัวตะกัว บริษัท ทอมสัน ไทป์ มะชีน (Thomson Type Machine) ซึ่งถือเป็นเครื่องหล่อตัวอักษรแบบเดียวกับรุ่นไจแอน แคสเตอร์ และซุปเปอร์แคสเตอร์ แต่มีขนาดเล็กประสิทธิภาพสูง และผนวกเครื่องหล่อตัวอักษรตะกั่วทอมสันเข้าอยู่ในสายผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย จนถึงปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ที่ต้องขอพูดถึงเครื่องทอมสัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีโรงหล่อตัวอักษรในอเมริกาบางแห่งยังใช้เครื่องหล่อตัวอักษรตะกั่วทอมสันอยู่ และเคยเห็นผ่านๆ ตาว่าประเทศไทยเคยใช้รุ่นนี้อยู่ด้วย (ถ้าเจอแล้วว่าเห็นที่ไหน จะมาเพิ่มเติมตรงนี้นะครับ)
ขณะที่เครื่องหล่อตะกั่วเรียงพิมพ์ ถูกผลิตและจำหน่าย โมโนไทป์ก็เห็นความสำคัญของรูปแบบตัวอักษร (Typeface) จึงได้ออกแบบรูปแบบตัวอักษรเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจมาจากเรื่องของลิขสิทธิ์รูปแบบตัวอักษร (Type face) ทีอาจต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในการได้แบบตัวอักษรและหล่อตัวอักษรแบบนั้นขึ้นมาจำหน่าย และคาดว่าอีกส่วนหนึ่งมาจากการเกิดขึ้นของโรงหล่อตัวอักษรตัวกั่ว (Type Foundry) ที่เป็นผลจากเครื่องหล่อตัวอักษรตะกั่ว ที่หล่ออักษรตะกั่วได้ง่ายและเร็ว โรงหล่อตัวอักษรตะกั่วพวกนี้ก็ออกแบบตัวอักษร (Typeface) เองเช่นกัน การเกิดขึ้นของโรงหล่อตัวอักษรตะกั่วทำให้เกิดการออกแบบตัวอักษร (Typography) อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และโมโนไทป์ ก็เข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องนี้มาแต่ต้น แต่ดูเหมือนโมโนไทป์ฝั่งอังกฤษทำได้ดีในเรื่องนี้ จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) โมโนไทป์อังกฤษก็ได้ผลักดันฟ้อนต์ Time New Roman ที่ออกแบบโดย วิคเตอร์ ลาร์เดนท์ (Victor Lardent) ให้ถูกใช้เป็นฟ้อนต์หลักในหนังสือพิมพ์อังกฤษ เดอะไทม์ (The Times) และกลายเป็นฟ้อนต์อมตะมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) โมโนไทป์ ก็กลายเป็นบริษัทมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange) และแตกออกเป็น 3 บริษัทลูก คือ 1. โมโนไทป์ อินเทอร์เนชันแนล รับผิดชอบธุรกิจระบบเรียงพิมพ์แบบโฟโตเซ็ตเตอร์ 2. โมโนไทป์ ลิมิตเต็ด รับผิดชอบธุรกิจเครื่องหล่อเรียงพิมพ์ตะกั่ว และ 3. โมโนไทป์ ไทป์โปกราฟฟี่ รับผิดชอบธุรกิจออกแบบและรูปแบบตัวอักษร (Typeface) หลังจากนั้นอุตสาหกรรมการพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการพิมพ์แบบออฟเซ็ท ที่ไม่ใช้ตะกั่วเรียงพิมพ์อีกต่อไป และการเรียงพิมพ้ด้วยแสงก็เข้ามามีบทบาท เทคโนโลยีการพิมพ์ช่วงนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทโมโนไทป์ต้องปรับตัว โดยในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) โมโนไทป์ ไทป์โปกราฟฟี่ ได้ร่วมมือกับบริษัทคอมพิวกราฟฟิก ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเรียงพิมพ์คอมพิวเตอร์ แลกเปลี่ยนสิทธิ์การใช้งานรูปแบบตัวอักษร (Typeface) ในช่วงนี้เทคโนโลยีออฟเซ็ทเข้ามามีบทบาทในวงการพิมพ์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่การพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสลดลงเรื่อยๆ ทำให้การหล่ออักษรตะกั่ว หรือการเรียงพิมพ์ด้วยตะกั่วเรียงพิมพ์ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อรายได้ของโมโนไทป์ ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องหล่ออักษรตะกั่ว ในที่สุดก็หมดยุค เครื่องหล่อตะกั่วเพื่อการเรียงพิมพ์ และเครื่องหล่ออักษรตะกั่ว ธุรกิจของโมโนไทป์ในสายงานนี้ถูกปิดตัวลง แต่โมโนไทป์ สายงานอื่นได้ไปต่อ...
ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) นอกจากเข้าสู่ยุคการพิมพ์แบบออฟเซ็ทแล้ว ยังเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์อีกด้วย Agfa-Gevaert เข้าซื้อกิจการบริษัท คอมพิวกราฟฟิก (ที่เป็นพัธมิตรกับโมโนไทป์) และเปลี่ยนชื่อเป็น อักฟ่า คอร์ปอเรชั่น (Agfa Corporation) ในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) บริษัท อักฟ่า คอร์ปอเรชั่น ก็ได้เข้าซื้อกิจการ โมโนไทป์ ไทป์โปกราฟฟี่ ส่งผลให้บริษัทอักฟ่า โมโนไทป์ เป็นผู้ครอบครองสิทธิ์การใช้งานรูปแบบตัวอักษร (Typeface) รายใหญ่ที่สุดในโลก ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ทีเอ แเอซโซซิเอท (TA Associates) เข้าซื้อกิจการบริษัทอักฟ่า โมโนไทป์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โมโนไทป์ อิมเมจจิ้ง (Monotype Imaging) และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน ......ขอต่ออีกนิด.... ปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) โมโนไทป์ อิมเมจจิ้ง เข้าซื้อกิจการบริษัท ไลโนไทป์ เยอรมัน (Linotype GmbH) และในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) โมโนไทป์ อิมเมจจิ้ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แนสเดค (NASDAQ) ในนิวยอร์ค และยังคงดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับออกแบบและจำหน่ายรูปแบบตัวอักษร (Typeface) ทั้งของโมโนไทป์ และไลโนไทป์ (Linotype) [เท่าที่ทราบในประเทศไทย บริษัท คัดสรร ดีมาก เป็นตัวแทนจำหน่ายฟ้อนต์ของโมโนไทป์ อิมเมจจิ้ง] การบริหารจัดการฟ้อนต์ และโซลูชั่นการแสดงผลในอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งอุปกรณ์สื่อสารพกพา อาทิ แท็บเล็ต อีรีดเดอร์ มือถือ การแสดงผลในเครื่องใช้ไฟฟ้า และในรถยนต์ พูดได้ว่าบริษัทโมโนไทป์ อิมเมจจิ้ง ในปัจจุบัน ไม่ใช่บริษัทโมโนไทป์ ที่ขายเครื่องหล่อตัวตะกั่วอีกต่อไป เพราะส่วนธุรกิจนั้นได้ปิดตัวไปนานแล้ว
ประเทศไทยเคยนำเข้าเครื่องหล่อโมโนไทป์มาใช้งาน ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์การพิมพ์ของไทย จึงขออ้างอิงข้อมูล (โดยก็อปมาทั้งดุ้น) จากนิตยสารสารคดี เดือนกันยายน 2545 เรื่อง 10 ตัวพิมพ์ กับ 10 ยุคสังคมไทย ที่ได้พูดถึงตัวพิมพ์หรือฟ้อนต์โมโนไทป์ จากเครื่องหล่อโมโนไทป์ :
หลังจากที่จอมพลสฤษณ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2501 และดำเนินนโยบายร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ ในการทำสงครามเย็นกับค่ายคอมมิวนิสท์ ความช่วยเหลือจากมหามิตรดังกล่าวก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ไทย ทั้งในรูปของเงินทุนเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ "ยุคพัฒนา" อันหมายถึง การเร่งรัดเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ตามกระแสทุนนิยมโลก
นอกจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายกระตุ้นให้เอกชน รวมทั้งบริษัทต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ คำขวัญของคณะรัฐบาลที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" กระตุ้นให้คนไทยทุกหย่อมหญ้าใฝ่ฝันถึง "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการก่อสร้างถนน ทางหลวงแผ่นดิน เขื่อนและโรงไฟฟ้าต่างๆ มากมาย
การพัฒนาตัวพิมพ์โดยโรงพิมพ์ใหญ่
สติ๊ก เครื่องมือเรียงตัวพิมพ์ด้วยมือ ช่างจะต้องเรียงตัวตะกั่วทีละบรรทัด ในยุคนี้ ความเจริญเติบโตของการพิมพ์ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เป้าหมายในเวลานั้นก็คือ ผลิตสร้างงานพิมพ์ให้มีมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสนองการขยายตัวของตลาดภายในและมุ่งหน้าสู่การผลิตเพื่อการ "ส่งออก" ในระยะต่อไป ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีตัวพิมพ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ การสร้างตัวพิมพ์ชุดโมโนไทป์ ระหว่างปี พ.ศ. 2500-2505 โดยบริษัทไทยวัฒนาพานิช ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์หนึ่งที่ทันสมัย และใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับบริษัทโมโนไทป์แห่งประเทศอังกฤษ ทำการปรับปรุงรูปแบบตัวพิมพ์ไทย เพื่อใช้กับเครื่องเรียงพิมพ์อัตโนมัติ ระบบโมโนไทป์เป็นการยกเลิกวิธีเรียงพิมพ์ด้วยฝีมือมนุษย์ หันไปใช้การเรียงอักษรด้วยแป้นคีย์บอร์ด เมื่อผู้บังคับแป้นคีย์บอร์ดใส่ข้อความลงไปจนครบ เครื่องเรียงจะดำเนินการเรียงพิมพ์ออกมาทีละหน้าอย่างอัตโนมัติ โดยที่การเรียงพิมพ์แต่ละครั้งจะมีการหล่อและเรียงตัวพิมพ์ขึ้นมาใหม่เสมอ ถาดใส่แม่ทองแดง โจทย์สำคัญสำหรับผู้สร้างแบบตัวพิมพ์โมโนไทป์คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ตัวขนาดเล็ก ประหยัดเนื้อที่ แต่ยังอ่านได้สะดวก โจทย์นี้สะท้อนถึงสภาวะของวงการพิมพ์ที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม และเงื่อนไขของการพิมพ์หนังสือที่มียอดพิมพ์สูงกว่าแต่ก่อน
ตัว "โมโนไทป์" เป็นผลงานของพีระ ต. สุวรรณ ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตของไทยวัฒนาพานิช เขา สำเร็จการศึกษาวิชาการพิมพ์จาก Liverpool College of Printing ในอังกฤษ พีระมีส่วนในการออกแบบ และดูแลการจัดทำตัวพิมพ์ชุดนี้กับเครื่องโมโนไทป์อย่างใกล้ชิด นอกจากจะปรับปรุงการหล่อให้สะดวกรวดเร็ว และมีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ยังได้พยายามปรับปรุงตัวพิมพ์ชุดใหม่ให้สวยงามขึ้นด้วย
ระบบโมโนไทป์จะเรียงพิมพ์จากการกดคีย์บอร์ดที่เครื่องบังคับ ตัวโมโนไทป์มีหลายแบบ บางแบบให้เส้นที่บางกว่าตัวตะกั่วแบบอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงด้านอื่นๆ คือ บีบสระบน และวรรณยุกต์ให้เล็กและวางต่ำลง ทั้งนี้เพื่อประหยัดเนื้อที่ ตัวธรรมดาถูกย่อเล็กลงเหลือราว ๑๖ พอยต์ โดยที่ยังคงความสวยงามและอ่านง่ายไว้ได้ ในยุคก่อนหน้านี้ การออกแบบตัวพิมพ์มีข้อจำกัด อันเกิดจากการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรส เช่น บางมากก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ตัวขาด หนามากก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ตัวบวม การที่โมโนไทป์กล้าสร้างเส้นที่บางลงได้นั้น เพราะตัวพิมพ์โมโนไทป์เกิดจากการหล่อใหม่ทุกครั้ง จึงกำจัดปัญหาตัวพิมพ์ขาดได้อย่างสิ้นเชิง
ตัวที่เด่นที่สุดของชุดโมโนไทป์ เรียกชื่อตามระดับความหนาของเส้นว่า ตัว "กลาง" กลายเป็นที่นิยม และก้าวเข้ามาแทนที่ตัวธรรมดาแบบเก่า เส้นของตัวพิมพ์นี้จะมีความสม่ำเสมอกันตลอด ปลายเส้นตัดตรง รวมทั้งมีความสูงตัวพิมพ์ หรือ X-height มากกว่าเดิม จุดเด่นคือไม่หักง่ายเหมือนตัวธรรมดาแบบเก่า อีกทั้งยังอ่านง่ายขึ้นด้วย
"โมโนไทป์กลาง" เป็นตัวพิมพ์ที่หยิบเอาข้อดีของตัวบรัดเลและฝรั่งเศสมารวมกัน จะเห็นได้จากการใช้เส้นที่หนาสม่ำเสมอแบบบรัดเล และการดึง "หัวกลาง" ให้ลงมาข้างล่างมากขึ้นเช่นเดียวกับฝรั่งเศส นอกจากนั้นมีการออกแบบตัว จ จาน ให้มีเส้นแนวดิ่งสองเส้น และสร้างเส้นฐานโค้งมน เพื่อถ่วงน้ำหนักมาข้างหลังและไม่ให้หัวคะมำไปข้างหน้าจนเกินไป ซึ่งก็เป็นลักษณะเด่นที่ดึงมาจากฝรั่งเศสอีกเช่นกัน เมื่อเรียงพิมพ์เสร็จ เครื่องหล่อจะหล่อตัวพิมพ์ออกมาทีละหน้า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ศูนย์พัฒนาหนังสือโตเกียว (Tokyo Book Development Center) ด้วยความร่วมมือของยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้ทุนเพื่อทำการพัฒนาตัวพิมพ์ของประเทศที่ไม่ใช้อักษรโรมัน และได้มอบทุนให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการออกแบบพัฒนาตัวพิมพ์อักษรไทยที่มีชื่อชุดว่า "ยูเนสโก" ขึ้น มีลักษณะคล้ายตัวโมโนไทป์กลาง นั่นคือมีเส้นที่หนาเท่ากันเกือบตลอด กริดหรือระเบียบที่เข้มงวดถูกนำมาใช้ในการกำหนดสัดส่วน เหลี่ยมและคมที่ไม่จำเป็นถูกขัดเกลาจนเรียบราบดูเนียนตา ตัวพิมพ์ชุดนี้เป็นผลงานการออกแบบของมานิต กรินพงศ์ อีกทั้งมีความหนาหรือน้ำหนักต่างกันถึงสองระดับ โมโนไทป์กับยุคปลายของตัวตะกั่ว
ไทยวัฒนาพานิช มีบทบาทสำคัญในการผลิตแบบเรียนของกระทรวงศึกษาฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นตัวพิมพ์ที่มีคุณภาพ และสวยงามกว่าตัวพิมพ์ของโรงหล่ออื่นๆ แต่โมโนไทป์เป็นเทคนิคที่มีราคาแพง การใช้จึงอยู่ในวงจำกัด ตัว "ยูเนสโก" และตัว "คุรุสภา" ซึ่งปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ประสบภาวะคล้ายกันคือ ไม่แพร่หลาย และกลายเป็นตัวพิมพ์ที่ใช้กันเฉพาะในกลุ่มโรงพิมพ์ของทางราชการ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโมโนไทป์เข้ามาสู่เมืองไทย ก็พอดีกับที่การพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสก้าวมาถึงจุดอิ่มตัว ทุกคนในวงการกำลังพูดถึงการพิมพ์ระบบลิโธออฟเซตซึ่งจะมาแทนที่ระบบเก่า ระบบออฟเซตหมายถึงการพิมพ์ที่ไม่ใช้แรงกดระหว่างแท่นพิมพ์ ตัวพิมพ์ กับกระดาษ แต่ใช้คุณสมบัติทางเคมีของหมึกและน้ำมาทำให้เกิดภาพและตัวอักษรบนกระดาษ ระบบนี้เหนือกว่าเลตเตอร์เพรสทั้งในด้านคุณภาพงานและความเร็วในการพิมพ์
ที่สำคัญก็คือ การพิมพ์ระบบนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวตะกั่ว เพราะต้องการเพียงถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบ หรืออาร์ตเวิร์ก แล้วนำไปถ่ายลงบนแม่พิมพ์ซึ่งเป็นเพลตสังกะสีบางๆ นั่นหมายความว่าการสร้างตัวพิมพ์อาจหันไปใช้วิธีอื่น เช่น อักษรลอกก็ได้ การก้าวเข้ามาของออฟเซตจึงเป็นสัญญาณว่า ชีวิตของตัวตะกั่วใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว
No comments:
Post a Comment